Art History Library Royal Story

ราชอาณาจักรสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบล

“ราชอาณาจักรสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบล : คณะราชทูตสยาม ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๑”

ความสัมพันธ์ ระหว่างสยาม-ฝรั่งเศสในสมัยรัตนโกสินทร์เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในรัชกาลพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ หลังจากที่ห่างเหินไปกว่า ๑๖๐ ปี การเจริญพระราชไมตรีนี้เป็นพระบรมราโชบายสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงเอาพระราชหฤทัยใส่อย่างจริงจัง เพื่อให้ราชอาณาจักรสยามสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีอิสรภาพท่ามกลางแนวคิดใน การแสวงหาและการยึดครองดินแดนต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์ของประเทศมหาอำนาจตะวันตก
นับแต่ปี พ.ศ. ๒๓๙๙ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริแต่งคณะราชทูตสยามให้เชิญ พระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการไปถวายพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ แห่งฝรั่งเศส แต่กว่าที่จะสำเร็จลงได้นั้นก็ต้องรอเวลาเกือบ ๕ ปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ คณะราชทูตสยามเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศส ได้เข้าเฝ้าพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ แห่งฝรั่งเศสและทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์นพร้อมทั้งเครื่องมงคลราชบรรณาการ ในครั้งนั้นคณะราชทูตประกอบด้วยพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) จางวางพระคลังสินค้า เป็นราชทูตเจ้าหมื่นไวยวรนาถ (วอน บุนนาค) เป็นอุปทูต และพระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) เป็นตรีทูต รวมทั้งคณะชาวสยามอีกหลายสิบคนนับเป็นการเจริญพระราชไมตรีที่ยิ่งใหญ่ครั้ง หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

ภายในพระราชวังฟงแตนโบล

หนึ่งในโบราณวัตถุที่ถูกโจรกรรมที่พระราชวังฟงแตนโบลรวมทั้งสิ้น ๑๕ ชิ้น รวมถึงพระมหาพิชัยมงกุฎของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่คณะราชทูตสยามได้ถวายแด่กษัตริย์นโปเลียนที่ ๓ ด้วย กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสว่า พิพิธภัณฑ์ฯได้แจ้งยืนยันข้อมูลการโจรกรรมดังกล่าวแล้ว โดยในชั้นนี้ โบราณวัตถุที่เป็นของไทยและถูกโจรกรรมมีเพียงชิ้นเดียวคือพระมหาพิชัยมงกุฎฯ ซึ่งปัจจุบันยังไร้ร่องรอย

เครื่องมงคลราชบรรณาการที่สยามส่งไปยังประเทศฝรั่งเศสมีความงดงามยิ่งใหญ่และเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง พระจักรพรรดินีเออ เฌนีแห่งฝรั่งเศสโปรดฯให้จัดเก็บเครื่องมงคลราชบรรณาการไว้ที่พระราชวัง ฟงแตนโบลซึ่งเป็นที่เสด็จออกรับคณะราชทูตเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๔ อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นก็ยังไม่มีผู้ใดได้เห็นสิ่งของเครื่องมงคลราช บรรณาการที่ทางสยามจัดส่งไปอย่างครบถ้วนสมบูรณ์จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ พิพิธภัณฑ์พระราชวังฟงแตนโบล ได้จัดแสดงเครื่องมงคลราชบรรณาการจากสยาม ภาพวาดคณะราชทูตสยามเข้าเฝ้าพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ทั้งยังได้จัดพิมพ์หนังสือคู่มือประกอบนิทรรศการ อันประกอบไปด้วยบทความต่างๆ ที่น่าสนใจและที่สำคัญคือภาพเครื่องมงคลราชบรรณาการอันงดงามประณีตที่คนไทย ไม่เคยเห็นมากว่า ๑๕๐ ปี เช่นพระมหามงกุฎ เครื่องราชูปโภคทองคำต่างๆ พระราชสาส์นทองคำ แผ่นผ้ารูปพระแก้วมรกต ๓ ฤดู และเครื่องมหัคฆภัณฑ์อื่นๆ โดยปัจจุบันพระมหาพิชัยมงกุฎของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถูกโจรกรรมและหายสาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอย

หนังสือ ราชอาณาจักรสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบล จัดทําขึ้น เนื่องในวาระครบรอบ ๑๕๐ ปี ที่คณะราชทูตสยามเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อเข้าเฝาพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๑

ใน หนังสือเล่มนี้ นอกจากภาพวาดอันงดงามของฌอง-เลออง เฌโรม (Jean-Leon Gerome) ที่ปรากฏเป็นปกหน้าหนังสือแล้ว ยังประกอบด้วยบทความเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจอีกมาก ทั้งบทความที่อธิบายจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-ฝรั่งเศสแต่ ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บทความเรื่องความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศสในสมัยรัตนโกสินทร์ และสิ่งสำคัญคือบัญชีรายการสิ่งของเครื่องมงคลราชบรรณาการพร้อมทั้งภาพถ่าย คณะราชทูตสยามในครั้งนั้นในเชิงมานุษยวิทยาอีกด้วย นับได้ว่าหนังสือ “ราชอาณาจักรสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบลคณะราชทูตสยาม ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๑” เป็นการระบายหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ให้มีสีสันงดงามควรค่าแก่การจดจำเป็นอย่างยิ่ง สิ่งของเครื่องมงคลราชบรรณาการทั้งปวงย่อมแสดงให้เห็นว่าสายพระเนตรของพระ บาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมองการณ์ไกลยิ่งนัก ทรงตระหนักดีว่าวิธีการทางการทูตและมิตรไมตรีอันดีระหว่าง ๒ ประเทศเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาขัดข้องต่างๆ ระหว่างประเทศได้ ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าบรรพชนในราชินิกุลบุนนาคนั้น ได้รับสนองงานอันเป็นคุณูปการและประโยชน์แก่แผ่นดินมาโดยตลอดอีกด้วย

Jean Léon Gérôme ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้วาดภาพ The Reception of Siamese Ambassadors by Emperor Napoleon III (1808-73)

เหรียญที่ระลึกพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) ถวายพระราชสาส์นรัชกาลที่ ๔ แด่สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ณ พระราชวังฟงแตนโบล ๒๗ มิถุนายน ๒๔๐๔

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Siam Renaissance

 

You Might Also Like