Fashion Love Royal Story Trend

The Tale of a Tiara

ครั้งหนึ่ง ในปีพ.ศ. 2510 ในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและแคนาดาอย่างเป็นทางการ  สมเด็จฯได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกเกี่ยวกับเครื่องประดับเพชรชิ้นใหญ่ที่ทรงในงานสำคัญต่างๆไว้ในบทความ “ความทรงจำในการตามเสด็จทางราชการ” ตอนหนึ่งว่า…

“คืนนั้น ข้าพเจ้าได้สวมสร้อยพระศอเพชร ซึ่งเป็นของเก่าของสมเด็จพระพันปีหลวง ทำให้ชาวอเมริกันกังขาว่าประเทศเล็กๆในเอเซีย ร่ำรวยขนาดที่พระราชินีจะทรงใช้เงินฟุ่มเฟือยซื้อเครื่องเพชรแบบนั้นได้เชียวหรือ ในงานเลี้ยงครั้งหนึ่ง แขกคนสำคัญคนหนึ่งในงานกล่าวถาม หม่อมเจ้า วิภาวดี รังสิต นางสนองพระโอษฐ์ ว่า เอ้อ…สร้อยพระศอที่พระราชินีของท่านทรงอยู่นั้น คงเพิ่งซื้อใหม่จากปารีสกระมัง”

 – หม่อมเจ้าวิภาวดี ทรงตอบว่ากลับไปว่า –

“เอ๊ะ! นี่ท่านไม่รู้หรอกหรือว่า เมืองไทยของฉันมีอายุกว่า 700-800 ปีแล้ว พระราชวงศ์จักรีก็มีมาตั้งเกือบสองศตวรรษ เราจึงมีเครื่องเพชรประจำพระราชวงศ์บ้าง ไม่เห็นจะต้องซื้อของใหม่ราคาแพงมาใช้เลย”


หนังสือ Van Cleef & Arpels: Treasures and Legends เขียนโดย Vincent Meylan

คำกล่าวของ หม่อมเจ้า วิภาวดี รังสิต ที่ตอบกลับแขกคนนั้นคงไม่ผิดนัก เพราะหนึ่งในหนังสือ Van Cleef & Arpels: Treasures and Legends ที่เขียนโดย Vincent Meylan เปิดเผยถึงเครื่องประดับราชวงศ์ไทย ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยพูดถึงหนึ่งในคอลเล็กชันของ “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” ที่สวยที่สุดในโลกของราชวงศ์ไทยว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเทียร่าหรือรัดเกศาแบบลวดลายไทยที่สามารถปรับเปลี่ยนและสามารถถอดเป็นสร้อยพระศอ และ สร้อยข้อพระหัตถ์ ขณะเดินลงจากพระราชวังในกรุงเอเธนส์ เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส สมเด็จพระราชาธิบดีคอนสแตนตินที่ 2 แห่งกรีซ และเจ้าหญิงแอนน์-มารีแห่งเดนมาร์ก ณ กรุงเอเธนส์ ราชอาณาจักรกรีซ โดยทรงฉลองชุดราตรีจาก Balmain และทรงสร้อยพระศอลวดลายโรโกโกแฉกแหลมตลอดองค์ ประยุกต์จาก “Fringe Tiara” ซึ่งทั้ง 2 องค์ ล้วนเป็นผลงานของฝีมือช่างของเมซง “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์

หนังสือ Van Cleef & Arpels: Treasures and Legends  ที่บอกเล่าเรื่องราวเครื่องประดับบางส่วนที่ผลิตโดย Van Cleef & Arpels ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเทียร่าหรือรัดเกล้าแบบลวดลายไทย และ ทรงสร้อยพระศอลวดลายโรโกโกแฉกแหลมตลอดองค์ ประยุกต์จาก “Fringe Tiara” จาก “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์ 

จากข้อมูลของเครื่องประดับจาก “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” ของราชวงศ์ไทย เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ จากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ สดับ ลดาวัลย์ โดยอ้างถึงเครื่องประดับของราชวงศ์จักรี ได้สะสมอย่างจริงจังและมีการดีไซน์ที่สมัยใหม่ขึ้นมาจากสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ถือว่าเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย  การแต่งพระองค์ของเจ้านายสตรีต้นรัชกาล ทรงสร้อยสังวาลย์ ปั้นเหน่งทองหัวเพชร พลอย กำไล แหวน สร้อยข้อมือ  ส่วนปลายรัชกาล เจ้านายสตรีทรงแฟชั่นแบบยุโรปประยุกต์ กล่าวคือ ฉลองพระองค์แขนหมูแฮมกับโจงกระเบน ทรงไข่มุกหลายๆเส้นกับเข็มกลัด เข็มขัด สะพายแพร ถุงพระบาทลวดลายปัก ฉลองพระบาทส้นสูง อย่างที่ทราบกันว่ารัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จฯประพาสยุโรปถึงสองครั้ง ในช่วงปีพ.ศ.2440 และ พ.ศ.2450 และได้ทรงซื้อเครื่องประดับอัญมณีจากช่างผู้ผลิตเครื่องประดับอันมีชื่อของยุโรปมีทั้ง คาเทียร์, เจอราด, ทิฟฟานี และ แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์ รวมอยู่ในนั้น เพื่อพระราชทานแก่พระมเหสี เจ้าจอม และพระธิดามากมาย และเครื่องประดับเหล่านั้น ปัจจุบันได้ตกทอดเป็นพระราชมรดกของทายาทจนปัจจุบัน รวมถึงเครื่องเพชรชิ้นใหญ่อันงดงามล้ำค่าของราชวงศ์ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงนำพระราชมรดกมาทรงฉลองเวียนใส่ที่พบเห็นกันบ่อยๆ เมื่อเสด็จฯเยือนต่างประเทศ หรือออกสู่มหาสมาคม โดยเฉพาะในวโรกาสทรงรับรองพระราชอาคันตุกะ จึงมาจากช่วงนี้นั่นเอง

 


เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ สดับ ลดาวัลย์ ทรงสร้อยพระศอเพชรแบบเทียร่า (Fringe Tiara) จาก “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์”

แต่ที่เห็นเด่นชัดน่าจะมาจาก พระราชสมบัติของ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซื้อไว้เมื่อครั้งประทับ ณ ประเทศอังกฤษครับ เป็นช่วงเวลาที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ทรงมีทรัพย์มากพอจะทรงซื้อเครื่องเพชรชิ้นงาม เพราะระยะนั้นได้ทรงศึกษาลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำรายได้มาผดุงพระเกียรติยศในระหว่างประทับ ณ ประเทศอังกฤษ


สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงสร้อยพระศอเพชรแบบเทียร่า (Fringe Tiara) ซึ่งสามารถแปลงเป็นศิราภรณ์ได้ ทั้ง 2 องค์ จาก “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์”

โดยชิ้นเด่นและนับว่าเป็นพระราชมรดกตกทอดได้แก่ สร้อยพระศอเพชรกับไพลิน และเพชรกับบุษราคัม ที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงรัดเกล้า และสร้อยพระศอเพชรแบบเทียร่า (Fringe Tiara) ซึ่งสามารถแปลงเป็นศิราภรณ์ได้ โดยบนกล่องสร้อยพระศอนั้น คือพระนาม Bejaratana (เพชรรัตน) ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ สะกดแบบถอดอักษรโรมัน ซึ่งเป็นพระราชมรดกจาก พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงยกให้กับ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (พระราชธิดา) โดยเครื่องประดับชุดดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับของทูลพระขวัญวันพระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ที่รังสรรค์โดย “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” และน่าจะเกิดขึ้นในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน


 (Fringe Tiara) วันพระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป มีความคล้ายคลึงกับสร้อยพระศอเพชรแบบเทียร่า (Fringe Tiara) ซึ่งสามารถแปลงเป็นศิราภรณ์ได้ ที่เห็นตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชทานแก่ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ สดับ ลดาวัลย์ รังสรรค์โดย “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์”

โดยรัดเกศาภาษาอังกฤษเรียกว่า เทียร่า และสร้อยพระศอของแบรนด์ “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” นี้ เป็นพระราชมรดกของพระพันปีหลวง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพระราชมรดกประจำพระราชวงศ์ โดยแต่เดิมเทียร่าของ “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” องค์นี้รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชทานแก่ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ สดับ ลดาวัลย์ ดังที่เห็นทรงใช้เป็นสร้อยพระศอสำหรับออกสมาคมต่างๆ ซึ่งต่อมาหลังจากรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต เจ้าจอม ม.ร.ว สดับ ยังแรกรุ่นอยู่  ครั้งนั้นมีผู้พยายามเข้ามาตีสนิท ท่านเกรงว่าจะมีข้อครหา จึงได้นำเอาทรัพย์สินที่ได้รับพระราชทานทั้งหมด ทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งท่านได้ทรงนำไปขายต่างประเทศ  และทรงนำเงินนั้นมาสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และบางส่วนทรงเก็บรักษาไว้รวมถึงเทียร่าองค์นี้ด้วย


พระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงรัดเกศาสไตล์แบนโดคาดพระนลาฎ ตามแบบแฟชั่นแกสบี้ที่นิยมกันในยุค 1920 

ความโดดเด่นของรัดเกศาเพชรของ “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” นี้ มีความเปล่งประกายรัศมี เป็นแฉกแหลมตลอดองค์ ที่เรียกกันว่า “Fringe Tiara” เป็นผลงานของฝีมือช่างของเมซง “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเป็นสร้อยพระศอโดยจะเห็นได้จาก เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ สดับ ลดาวัลย์ ที่ทรงใช้เป็นสร้อยพระศอในขณะนั้น หรือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ทรงรัดเกศาสไตล์แบนโดคาดพระนลาฎ ตามแบบแฟชั่นแกสบี้ที่นิยมกันในยุค 1920  ส่วนสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา ทรงเป็นทั้งรัดเกศาและสร้อยพระศอ (ภาพข้างต้น) ที่เห็นเด่นชัดคงจะเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้ทรงรัดเกศารัศมีออกงานบ่อยครั้ง และทรงนำมาดัดแปลงกับทั้งชุดไทยและชุดตะวันออก ทั้งคาดพระนลาฎ คาดพระจุฑามาศ คาดพระเกศา และทรงใช้เป็นสร้อยพระศอเช่นกัน


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้ทรงรัดเกศา “Fringe Tiara” ลายโรโกโกแฉกแหลมตลอดองค์ จาก “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์ ออกงานบ่อยครั้ง


สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงรัดเกศา “Fringe Tiara” ฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับ สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ ที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พร้อมด้วย เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ พระราชธิดาในคราวเสด็จมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 10-15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515

อีก 1 องค์ ที่ถือว่าเป็นเครื่องเพชรประจำราชวงศ์จักรี จาก “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” อย่าง “รัดเกล้าเพชร” ลวดลายไทย ที่สามารถถอดเป็นสร้อยพระศอ และ สร้อยข้อพระหัตถ์ นับว่าเป็นอีกหนึ่งองค์ที่มีความงดงามและมีเทคนิคการทำที่แยบยล โดยใช้เทคนิคฝังเพชรขึ้นตัวเรือนแบบซ่อนหนามเตย “Mystery Set™” ใช้ลูกเล่นการฝังอัญมณีบดบังหนามเตยโลหะบนตัวเรือนเพื่ออวดความงามของรัตนชาติ โดยองค์นี้ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ในการพระราชพิธีสำคัญหลายครั้ง รวมทั้งในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆในยุโรปในช่วงต้นรัชกาลที่ ๙ อีกด้วย


“รัดเกศาเพชร” จาก “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” สามารถถอดเป็นสร้อยพระศอ และ สร้อยข้อพระหัตถ์ ได้ 


รัดเกศาเพชรองค์นี้ เป็นพระราชมรดกจาก พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงยกให้กับ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี 


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงรัดเกศารังสรรค์โดย “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” ในการพระราชพิธีสำคัญหลายครั้ง


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรัดเกศาที่รังสรรค์โดย “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” โดยฉลองพระองค์ชุดราตรีจาก Balmain

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้ทรงรัดเกศาเพชร และสร้อยพระศอเพชรแบบเทียร่า (Fringe Tiara) ออกงานบ่อยครั้ง และทรงนำมาดัดแปลงกับทั้งชุดไทยและชุดตะวันออก ทั้งคาดพระนลาฎ คาดพระจุฑามาศ คาดพระเกศา และทรงใช้เป็นสร้อยพระศอเช่นกัน

โดยเครื่องเพชรประจำราชวงศ์จักรี ที่เป็นเครื่องประดับอัญมณีจากช่างผู้ผลิตเครื่องประดับอันมีชื่อของยุโรป สมัยนั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงโปรดเครื่องเพชรมาก ทำให้ทรงมีเครื่องเพชรมากกว่าทางสายของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ดังนั้นทรงมีพระราชมรดกเครื่องเพชรจากร้านจิวเวอรี่ชื่อดังของยุโรปมากมายหลายชุด งดงามล้ำค่าควรเมืองมีอยู่หลายสิ่งที่เป็นชิ้นใหญ่ๆมีค่าที่พระราชินีทรงเมื่อออกมหาสมาคม  เล่ากันว่าเวลาจะทรงใช้ ข้าหลวงต้องเชิญมาเป็นถาดๆให้ทรงเลือก แต่ปลายพระชนมชีพก็ไม่ได้สนพระราชหฤทัยเท่าใดนัก ทรงเป็นชิ้นเล็กๆ พวกเข็มกลัดพระนาม ภายหลังเสด็จสวรรคต เครื่องอาภรณ์ล้ำค่าเหล่านี้ รัชกาลที่ ๖ ยังไม่ได้ทรงแบ่งให้กับบรรดาพระทายาท ทรงเก็บไว้เป็นกองกลาง ผู้ใดจะใช้ก็พระราชทานยืมชั่วครั้งคราว

ตกทอดมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่องพระองค์เสด็จฯออกนอกประเทศ ได้ทรงนำบางส่วนติดพระองค์ไปด้วย โดยเฉพาะเครื่องประดับชุดมรกตล้ำค่าที่ทรงขายร้านคาเทียร์ไปภายหลัง เพื่อพยุงพระเกียรติยศและดำรงพระชนม์ชีพเนื่องจากทางคณะราษฎร์ได้สั่งอายัดพระราชทรัพย์ในประเทศไทย แต่บางส่วนก็ยังคงเก็บรักษาไว้ในพระบรมหาราชวัง บนพระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีการอัญเชิญอพยพไปตอนช่วงสงครามไปเก็บรักษาไว้ในถ้ำที่เพชรบูรณ์ หลังสงครามจึงได้นำกลับมาเก็บรักษาไว้ในพระบรมหาราชวังตามเดิม จากหนังสือดวงแก้วพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ระบุการแบ่งพระราชมรดกไว้ดังนี้

20 ปีผ่านไปนับตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคต มีการผลัดเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน 3 พระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มีพระประสงค์ให้แบ่งพระราชมรดกจำพวกเครื่องเพชร เครื่องประดับและอัญมณีสูงค่า ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แก่พระกุลทายาทสายต่าง ๆ ที่ทรงมีสิทธิ์ในพระราชมรดก ซึ่งพระคลังข้างที่ดูแลรักษา ก่อนหน้านั้นนายกรัฐมนตรีในยุคเผด็จการ ไม่ยอมให้นำออกมาแบ่ง

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในรัชกาลที่ ๙  ทรงเป็นประธานในการแบ่งพระราชมรดกไปยังทายาทสายต่างๆ อาทิ สายสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจีฯ พระนางเธอลักษมีลาวัณย์ พระนางเจ้าสุวัทนาฯ และพระสุจริตสุดา  สายพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์  สายพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา เป็นต้น


“เอสแต็ลล์ อาร์เปลส์” บุตรีนักธุรกิจค้ารัตนชาติเลอค่า กับ “อัลเฟร็ด แวนคลีฟ” บุตรชายช่างเจียระไนและนายหน้าค้าเพชร

อนึ่งอัญมณีชั้นสูงของโลกอย่าง “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” (Van Cleef & Arpels) เครื่องประดับอัญมณีจากประเทศฝรั่งเศส ที่อายุเก่าแก่กว่า 110 ปีนี้ ก็มาจากเรื่องราวความโรแมนติกไม่แพ้ผลงานการสร้างสรรค์เลย โดยเริ่มต้นจากความรักระหว่าง “เอสแต็ลล์ อาร์เปลส์” บุตรีนักธุรกิจค้ารัตนชาติเลอค่า กับ “อัลเฟร็ด แวนคลีฟ” บุตรชายช่างเจียระไนและนายหน้าค้าเพชร ที่คบหาจนแต่งงานกันในปี 1895 หลังจากนั้นในปี 1906 ทั้งคู่ตัดสินใจดำเนินธุรกิจร่วมกับพี่ชายทั้งสามของเอสแต็ลล์คือ ชาร์ลส์ม, จูเลียน และลูอิส ด้วยการเปิดบูติก “Van Cleef & Arpels” แห่งแรก ณ อาคารเลขที่ 22 จัตุรัสว็องโดม ในทำเลที่มีความหรูหราและสง่างามใจกลางกรุงปารีส

ถ้าจะเอ่ยถึงเมซงผู้ผลิตเครื่องประดับอัญมณีแห่งนี้ว่ามีชื่อเสียงอย่างมากในสมัยนั้น คงไม่ผิดนัก เพราะอัญมณีจาก “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์”  มีความนิยมขจรขจายรวดเร็วมาก และผลงานสร้างสรรค์ของ “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” เองก็เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญระดับโลกหลายต่อหลายครั้ง จากนั้นคนในตระกูลรุ่นที่สอง ก็เข้ามาสืบทอดกิจการในช่วงทศวรรษ 1930 ภายใต้การอำนวยการฝ่ายศิลป์ของ “เรอเน่ ปุยซังต์” ธิดาของเอสแต็ลล์กับอัลเฟร็ด โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ตั้งแต่ปี 1926 จนถึงปี 1942 ซึ่งสร้างสไตล์ต้นแบบทรงเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้จนได้จดจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ของเมซง ผ่านผลงานคอลเลกชั่นต่างๆ มากมาย โดยร่วมกับนักออกแบบชื่อก้องอย่าง “เรอเน่-แซ็ง ลากาซ” อีกด้วย

“Zip necklace” สร้อยคอทรงซิป ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงตัวกลัดสายซิป ดีไซน์โดดเด่นที่ได้รับความนิยมจวบจนปัจจุบัน

ครึ่งแรกของศตวรรษ “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” พัฒนาทักษะความชำนาญต่างๆจนกลายเป็นสัญลักษณ์สร้างชื่อเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคฝังเพชรขึ้นตัวเรือนแบบซ่อนหนามเตย “Mystery Set™” ใช้ลูกเล่นการฝังอัญมณีบดบังหนามเตยโลหะบนตัวเรือนเพื่ออวดความงามของรัตนชาติ หรือจะเป็นประดิษฐกรรมกระเป๋าเครื่องสำอางมิโนดิเยร์ ตลอดจนนวัตกรรม “Zip necklace” สร้อยคอทรงซิป ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงตัวกลัดสายซิป โดยความงามสง่าและความคิดริเริ่มประดิษฐกรรมในผลงานชิ้นต่างๆเหล่านี้ หลอมรวมร่วมกับวัตถุดิบเลอค่า หนุนส่งให้ “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” ขึ้นแท่นเป็นขวัญใจเหล่าราชวงศ์ระดับโลก ราชนิกุลชั้นสูง ตลอดจนบุคคลผู้มีชื่อเสียง ซึ่งรวมถึงราชวงศ์จากประเทศไทยดังที่กล่าวมาข้างต้น

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพบางส่วนจาก issuu.com/topicstock.pantip.com/thaimonarch.org/th.wikipedia.org/vancleefarpels.com/thairath.com/pinterest.com/chiangmaicitylife.com

You Might Also Like