เสือดำเป็นผู้ล่าสำคัญในระบบนิเวศที่ช่วยควบคุมประชากรของสัตว์อื่นๆ ภายในป่า และปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรของเสือดำเหลือเพียงไม่เกิน 2,500 ตัวเท่านั้น ในระบบนิเวศแล้วสัตว์ทุกชนิดไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น เก้ง สัตว์กินพืชที่พบได้ทั่วไปและมีปริมาณมากนี้ถือเป็นผู้ถ่ายทอดพลังงานในห่วงโซ่อาหาร หากไม่มีเก้ง ผู้ล่าอย่างเสือดาวและหมาในก็ปราศจากอาหาร ส่วนไก่ฟ้าหลังเทา นกขนาดเล็กนี้คุ้ยเขี่ยหากินตามพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นตัวหนอน ไส้เดือน หรือผลไม้สุกที่ร่วงหล่นตามพื้น ก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้วงจรชีวิตภายในป่าสมบูรณ์ทั้งสิ้น
เพชร มโนปวิตร รองหัวหน้าองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกเล่าถึงความสำคัญของระบบนิเวศ ข่าวของการล่าสัตว์ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ต่อระบบนิเวศ อีกทั้งยังเป็นบทท้าทายสำคัญต่อข้อกฎหมายไทยและการบังคับใช้อีกด้วย ในขณะที่ประชาชนทั่วไปต่างรอดูว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างอุกอาจและน่าสะเทือนใจในพื้นที่เขตอนุรักษ์นี้อย่างไรเช่นกัน
เมื่อพูดถึง “เสือดำ” หลายคนอาจคิดว่าเป็นเสือชนิดพันธุ์หนึ่ง หากในความเป็นจริง คำว่า เสือดำ หรือ “black panther” ไม่ใช่ชนิดพันธุ์ในตัวเอง หากเป็นคำเรียกรวมๆ ถึงสัตว์วงศ์เสือและแมวที่มีขนสีดำ สีดำของขนนี้เกิดจากยีนที่เรียกว่า Agouti ซึ่งควบคุมการกระจายตัวของสารสี (pigment) สีดำภายในเส้นขน ลักษณะนี้เป็นที่รู้จักมากที่สุดในเสือดาวซึ่งอาศัยอยู่ในเอเชียและแอฟริกา ตลอดจนเสือจากัวร์ในแถบอเมริกาใต้ นอกจากนี้ การเกิดสีดำยังมีสาเหตจากมีเมลานิน (สารสีชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดผิวสีแทน) มากผิดปกติ และสัตว์ที่มีความผิดปกตินี้จึงเรียกว่า “melanistic” อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะเรียกว่า “เสือดำ” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พวกมันไม่มีลวดลาย เพียงแต่มองเห็นยากเท่านั้น หากมีแสงส่องตกกระทบในมุมที่พอดี เราก็อาจเห็นลวดลายบนตัวเสือดำเหล่านี้ได้
สำหรับเสือดำที่เป็นข่าวถูกลอบฆ่าในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรนั้น เป็นชนิดพันธุ์ย่อยของเสือดาว (Indochinese leopard) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera pardus delacouri มีรายงานการกระจายพันธุ์ จากอินโดนีเซียถึงจีนตอนใต้ และถูกจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (endangered: EN) ในบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN Red List) และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายของไทย ปัจจุบันจากการจัดสถานะโดย IUCN พวกมันเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ โดยมีปัจจัยหลักจากการบุกรุกพื้นที่ป่าและการล่าโดยน้ำมือมนุษย์
ภาพถ่ายของเสือดำจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ภาพถ่ายโดย DNP/ThailandWildlife.com
ทั้งเสือดำ และเสือดาว แม้ว่าจะมีขนาดเล็กเทียบกับเสือชนิดอื่น แต่มันมีพละกำลังมากอย่างเหลือเชื่อ มีกะโหลกหนัก มีโพรงสำหรับกล้ามเนื้อกรามขนาดใหญ่ มีหนวดและคิ้วยาวเป็นพิเศษช่วยในการปกป้องดวงตา และช่วยในการเคลื่อนไหวยามค่ำคืน ทนแล้งได้ดี สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องกินน้ำได้หลายวัน โดยอาศัยน้ำจากเหยื่อที่มันกินเท่านั้น สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุด เขตกระจายพันธุ์กว้างขวางที่สุด สามารถอาศัยอยู่ได้ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ทะเลทรายจนถึงป่าฝน
นิสัยของเสือดาวและเสือดำ เป็นนักล่าที่แข็งแกร่ง และเป็นนักปีนต้นไม้ชั้นยอด มีกล้ามเนื้อขาและคอแข็งแรงมาก ไม่ค่อยชอบน้ำแต่ก็ว่ายน้ำได้ดี ส่วนใหญ่มักชอบออกหากินตั้งแต่เวลาพลบค่ำจนถึงใกล้รุ่ง ในบางครั้งก็อาจหากินในเวลากลางวันได้โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีมนุษย์รบกวน และตัวเมียที่เลี้ยงลูกก็มักต้องออกหากินบ่อยครั้งกว่าปกติจนต้องมีการหากินในเวลากลางวันด้วย ในเวลากลางวันที่ร้อนอบอ้าว มักปีนขึ้นไปพักผ่อนบนต้นไม้ หรือตามพุ่มไม้ หรือหรือหลืบหิน โดยอาหารของเสือดาวส่วนใหญ่ในเขตร้อนเป็นสัตว์กีบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เช่น เก้ง กวางดาว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งของประเทศไทย พบว่าเสือดาวกินสัตว์จำพวกลิงมาก เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับเสือโคร่งในการล่าสัตว์กีบ เช่น เก้ง อีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะป่าเบญจพรรณในห้วยขาแข้งมีเรือนยอดค่อนข้างโปร่งทำให้พวกลิงค่างต้องลงพื้นดินบ่อยครั้ง จึงตกเป็นเหยื่อของเสือดาวได้ง่าย
จากการติดตามเสือดาวตัวผู้ ด้วยปลอกคอวิทยุในประเทศไทย พบว่า เสือดาวเดินทางเฉลี่ยประมาณวันละ 2 กิโลเมตร และในแต่ละวันมีช่วงเวลาที่ตื่นตัวประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์ หากินได้ทุกเวลาไม่จำเป็นว่าต้องกลางวันหรือกลางคืน แต่เสือดาวที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์จะหากินตอนกลางคืนมากกว่า โดยเรื่องราวของเสือดำในประเทศไทยเคยเป็นข่าวฮือฮาเมื่อราว พ.ศ. 2521 เมื่อปรากฏข่าวว่ามีเสือดำตัวหนึ่งเพ่นพ่านอยู่แถวมักกะสัน พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร จนเป็นที่หวาดกลัวของผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น จนได้ชื่อว่า “เสือดำมักกะสัน” แต่อีก 2 ปีต่อมาก็ปรากฏว่าเป็นเสือดำที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ซื้อมาในราคา 3,000 บาท และนำมาปล่อยไว้เองเพื่อผลทางจิตวิทยา ก่อนจะจับไปปล่อยไว้ในป่าห้วยขาแข้ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในประเทศไทย เสือดำเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ การกระทำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเสือดำซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ทุกชีวิตบนโลกมีคุณค่า และมีสิ่งสวยงามอยู่รอบตัวเราเสมอเพียงแค่เราได้สัมผัสถึงแก่นแท้ สัญชาตญาณนักล่าไม่ควรเกิดกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ผู้ประเสริฐ” เพราะเราข้ามจุดนั้นและกำลังมุ่งสู่ความทันสมัยที่ไม่ได้ล้าหลังอีกต่อไปแล้ว ปล่อยให้ธรรมชาติทำหน้าที่ของเขาในวัฏจักรที่มนุษย์ไม่ใช่ผู้ทำลาย และหวังว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเป็นเพียงแค่เรื่องเล่าที่จะไม่มีวันเกิดขึ้นอีกในอนาคต..
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพบางส่วนจาก ngthai.com/mgronline.com/youtube.com