History Jewellry Love Royal Story

The Duchess of Windsor

บริษัทจัดการประมูลชื่อดังอย่าง Sotheby’s ได้จัดการประมูลเครื่องประดับที่เปรียบเสมือนตัวแทนความรักของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 และนางวอลลิซ ซิมป์สัน พระชายา มีขึ้น ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 โดยเครื่องประดับที่ถูกนำมาประมูลครั้งนั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 20 ชิ้น และมียอดเงินประมูลรวมสูงราว 8 ล้านปอนด์ สำหรับเครื่องประดับชิ้นที่มีผู้ให้ความสนใจมากที่สุด คือ สร้อยข้อมือรูปเสือดาวประดับด้วยเพชรและนิลของ Cartier ถูกประมูลไปในราคาที่สูงถึง 4.5 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นราคาประมูลที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ Sotheby’s เคยจัดประมูลมา

Diamond Panther Bracelet จาก Cartier ถูกประมูลไปในราคาที่สูงถึง 4.5 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นราคาประมูลที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ Sotheby’s เคยจัดประมูลมา

ความพิเศษของสร้อยข้อมือเส้นนี้อยู่ที่ความโดดเด่นในด้านการออกแบบและเทคนิคการผลิตที่เหนือชั้นเมื่อเทียบกับการผลิตเครื่องประดับในยุคนั้น เนื่องจากต้องใช้เทคนิคขั้นสูงและฝีมือการผลิตที่ประณีตเป็นอย่างยิ่งในการสร้างข้อต่อเพื่อให้ตัวเสือดาวพันลงบนข้อมือได้อย่างแนบสนิท

เธอสวมข้อมือ Diamond Panther ในปี 1959, ในงาน Gala opening of the new Lido Revue ปารีส ฝรั่งเศส

โดยสร้อยข้อมือเรือนนี้มีสลักลายเซ็นต์ด้านในว่า ‘Great Cats’ ที่ได้การรังสรรค์ขึ้นจาก House of Cartier ภายใต้การออกแบบของ Jeanne Toussaint ผู้อำนวยการแผนกเครื่องประดับของ Cartier ที่ผสมเพชรและนิลและใช้เทคนิคสร้างข้อต่อยุคใหม่ที่ผสานสรีระของข้อมือได้อย่างแยบยล ผลักดันและสร้างชื่อเสียงให้ Cartier ประสบความสำเร็จอย่างมากในยุคนั้น จนถือว่าเป็นแบรนด์เครื่องประดับที่สร้างตำนาน ‘jeweller of kings’ ได้อย่างไม่มีที่ติ

Sarah Brightman สวมเครื่องประดับเข้าชุด Diamond Panther ในงานเปิดตัวละครบรอดเวย์ The Phantom of the Opera ที่นิวยอร์ก เดือนมกราคม ปี 1988

ก่อนหน้าที่คอลเล็กชั่น Diamond Panther จะถูกประมูลอีกครั้ง สร้อยข้อมือเส้นนี้เคยตกเป็นสมบัติของนักร้องดังแห่งยุคอย่าง Sarah Brightman นักร้องสาวที่ Andrew Lloyd Webber นักประพันธ์เพลงระดับตำนานประมูลให้เธอ ในปี 1987 ที่กรุงเจนีวา ในฐานะภรรยาคนใหม่และมอบเป็นของขวัญให้เธอเพื่อเฉลิมฉลองละครบรอดเวย์เรื่อง The Phantom of the Opera ที่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มถลายในกรุงลอนดอน ในฐานะที่เธอเป็นนักแสดงนำและเขาเป็นผู้ประพันธ์

หลังจากนั้นคอลเล็กชั่นนี้ก็ถูกขายทอดตลาดอีกครั้งโดยบริษัทประมูล Christie’s ที่จัดขึ้นโดย Sarah Brightman นั้นเอง โดยเธอมุ่งมั่นที่จะนำรายได้จากการขายในครั้งนี้มอบให้แก่มูลนิธิ Andrew Lloyd Webber Foundation ที่เป็นของอดีตสามีของเธอ เพื่อสนับสนุนศิลปะดนตรีในโรงเรียนมูลนิธิมรดกทางสถาปัตยกรรม ต่อมาเครื่องประดับมีค่าชุดนี้ก็ตกมาอยู่ในการประมูลที่จัดขึ้นโดย Sotheby’s ในเวลาถัดมา


หนึ่งในเครื่องประดับที่ออกประมูลอย่างเข็มกลัดประดับมรกตคำว่า WE หมายถึง Wallis และ Edward แทนความรัก ทำโดย Cartier ในปี 1957


เข็มกลัดนกกระเรียนอัญมณีประดับเพชรมูลค่าในปัจจุบันเกือบ 2 ล้านปอนด์

เครื่องประดับของวอลลิซบางส่วนที่ถูกออกประมูลครั้งล่าสุด

โดยสร้อยข้อมือนี้ ถูกประมูลในราคาที่สูงถึง 4,500,000 ปอนด์ที่ Sotheby’s ในคืนสุดท้ายก่อนการประมูลจะจบลง โดยเป็นราคาประมูลที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ Sotheby’s เคยจัดประมูลมาและถือว่าเป็นเครื่องประดับจาก Cartier ที่ราคาสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นจากการประมูล โดย David Bennett ประธานของ Sotheby’s Jewellery in Europe and the Middle East ได้เล่าถึงคอลเล็กชั่นชุดนี้ว่า

เธอเป็นดัชเชสที่เป็นผู้นำแฟชั่นและเป็นตัวอย่างของความสง่างาม กาลเวลาไม่สามารถทำลายแนวคิดที่แสนจะสมัยใหม่ และทันโลก ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทรงคุณค่าที่สุดของเธอ

“มันเป็นเครื่องประดับที่ยากหาที่ใดเหมือน และไม่มีใครจะอัจฉริยะเท่ากับการดีไซน์ที่ไร้กาลเวลาของคาร์เทียร์ เครื่องประดับทั้งหมดของดัชเชลแห่งวินเซอร์นี้ บอกเล่าเรื่องราวของความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ที่ยศถาบรรดาศักดิ์ไม่สามารถทำลายความรักที่สุดแสนโรแมนติก หนึ่งในความรักแห่งราชบัลลังก์อังกฤษแห่งนี้”


หนังสือชีวประวัติและหนังสือรวมคอลเลคชั่นส่วนพระองค์ The Duke & Duchess of Windsor

แต่สิ่งที่ยิ่งเพิ่มความพิเศษให้แก่เครื่องประดับชิ้นนี้ นอกจากที่บุคคลทั้งสองได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบและการผลิตอย่างใกล้ชิดแล้ว คงจะหนีไม่พ้นเรื่องราวความรักที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ชายผู้ซึ่งยอมสละทุกอย่างแม้กระทั่งราชบัลลังก์เพื่อแลกมาซึ่งการได้ครองคู่กับสตรีผู้เป็นดวงใจนามว่า ‘วอลลิซ ซิมป์สัน’ รวมถึงเรื่องราวของการตามหาหนังสือนามว่า The Duke & Duchess of Windsor

ผู้เขียนเองไม่เคยรู้มาก่อนว่าการตามหาหนังสือหนึ่งเล่มที่อยากได้มานานมากๆมันเป็นยังไง หลังจากที่ใช้เวลาอยู่พักใหญ่ ในที่สุดก็ได้ครอบครอง หนังสือที่ผลิตตั้งแต่แต่ปี 1997 ชื่อว่า The Duke & Duchess of Windsor ที่กล่าวถึงประวัติของหญิงสาวนามว่า Wallis Simpson ที่เป็นหม้ายสาวพราวเสน่ห์ให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งวินด์เซอร์ ซึ่งเดิมเป็น สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แห่งสหราชอาณาจักรถึงกับสละราชสมบัติเพื่ออภิเษกสมรสกับเธอได้ จะกลายเป็นหนังสืออีกเล่มที่มีในบ้าน จริงๆถ้าลองหาดูมันก็คงมีถมเถให้ซื้อออนไลน์หรือหาจากร้านหนังสือร้านไหนก็อาจจะหาได้ แต่ที่ภูมิใจคือเล่มนี้มี Autograph Letter ของเธอที่เขียนด้วยปากกาถึง Madame Maurois สหายที่เป็นที่รักด้วย (ต้องขอบคุณ Seller ผู้ใจดีนามว่า eBay ที่ทำให้ได้เจอเล่มนี้)


ชุดนี้มี Autograph Letter ของเธอที่เขียนด้วยปากกาถึง Madame Maurois สหายที่เป็นที่รักด้วย (ต้องขอบคุณ Seller ผู้ใจดีนามว่า eBay ที่ทำให้ได้เจอเล่มนี้)

หนังสือคอลเล็กชั่นนี้บอกเล่าเรื่องราวของเธอและสามี รวมถึงสมบัติทั้งหมดของทั้งคู่ ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงเครื่องประดับที่ถูกประมูลในตอนต้นด้วย หากจะเล่าประวัติคร่าวๆของเธอ ก็สามารถสรุปได้ว่า วอลลิซ ซิมป์สัน เป็นหม้ายสาวพราวเสน่ห์ชาวอเมริกันที่ผ่านการแต่งงานมาแล้วถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะมาพบรักกับหนุ่มหล่อเจ้าสำราญอย่างพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดแห่งยอร์ก ทั้งคู่พบกันที่งานเลี้ยงแห่งหนึ่ง และได้เริ่มศึกษาดูใจจนพัฒนาความสัมพันธ์ในฐานะคนรักโดยที่ในขณะนั้นนางซิมป์สันยังไม่ได้หย่าขาดจากสามีคนที่ 3

Wallis Simpson (วอลลิส ซิมป์สัน) 19 June 189624 April 1986 

ภายหลังจากการขึ้นครองราชสมบัติ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ประสงค์ที่จะแต่งงานกับนางซิมป์สัน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกราชวงศ์ อีกทั้งยังมีเสียงคัดค้านมากมายจากคณะรัฐบาลตลอดจนแรงต้านจากประชาชน ด้วยทุกฝ่ายมองว่านางซิมป์สันไม่มีคุณบัติดีพอที่จะเป็นราชินี รวมถึงกฏของราชวงศ์ที่ห้ามแต่งงานกับหญิงหรือชายที่หย่าร้าง เมื่อชีวิตรักของกษัตริย์กลายเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ทางออกเดียวที่จะได้แต่งงานกับเธอ พระองค์ก็ได้เลือกที่จะ ‘สละราชสมบัติ’ ในประวัติแม้ว่านางซิมป์สันจะคัดค้านและตัดสินใจที่จะเป็นฝ่ายเดินออกมาจากชีวิตของเขาเพื่อให้ได้ครองบัลลังก์ต่อไป แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจที่แน่วแน่ของพระองค์ในครั้งนี้ได้

ในวันที่ 10 ธันวาคม 2479 ภายหลังจากการครองราชสมบัติเพียง 326 วัน พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ก็ทรงประกาศสละราชสมบัติ โดยพระองค์ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อประชาชนซึ่งในถ้อยแถลงตอนหนึ่งมีความว่า

“ข้าพเจ้าปรารถนาให้ทุกท่านเข้าใจว่าการตัดสินใจในครั้งนี้ มิได้เป็นไปโดยปราศจากการคำนึงถึงประเทศชาติ แต่โปรดเข้าใจว่าความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงในฐานะกษัตริย์ข้าพเจ้าเต็มใจยิ่งที่จะปฏิบัติ แต่มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ข้าพเจ้าจะรับผิดชอบกิจการงานทั้งปวงโดยปราศจากแรงสนับสนุนจากสตรีที่ข้าพเจ้ารัก”


พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ได้แต่งงานกับนางซิมป์สัน ณ Chateau de Cande ในวันที่ 3 มิถุนายน 1937 ประเทศฝรั่งเศส

ภายหลังจากการสละราชสมบัติ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ได้แต่งงานกับนางซิมป์สันและได้ย้ายไปพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นการถาวร มีคนกล่าวถึงเรื่องราววอลลิซมานานแล้ว ทั้งเรื่องใส่สี ให้ร้าย หรือเรื่องดีๆ ความเด็ดเดี่ยวและความรักที่มีต่อเจ้าชาย คนหลายคนมองว่าพระเธอหวังรวยทางลัด ถึงต้องเลิกกับสามีคนที่ 3 เพื่อมาแต่งกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด สู่บันไดการเป็นควีน จนเจ้าชายต้องยอมสละราชสมบัติเพื่อมาแต่งงานกับเธอ หรือข่าวบิดเบือนว่าเธอตกอับ โดนตราหน้าให้ร้ายและต้องลี้ภัยมาอยู่ที่ฝรั่งเศส รอคอยเงินจากสำนักพระราชวังและเบี้ยเลี้ยงจากการเขียนหนังสือชีวประวัติของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเอง จนในที่สุดพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ก็สิ้นพระชนม์ในปี 2515 ซึ่งพระศพได้ถูกอัญเชิญกลับมาฝัง ณ สุสานหลวงของราชวงศ์วินด์เซอร์ และอีก 14 ปีให้หลัง


พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 และนางวอลลิส ซิมป์สัน

มันก็นะ ชีวิตคนไม่ได้รุ่งโรจน์ในด้านเดียว ความผิดหวังท้อแท้ของชีวิตก็มี แต่หลายๆสิ่งในตัวเธอที่ดีก็มีให้เห็น ทั้งเรื่องการแต่งกายที่ยอมรับจริงๆว่าเธอเป็นคนไม่สวยแต่สง่างามและมีเสน่ห์ ถึงได้เป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลของโลกด้านแฟชั่นหลายปีซ้อน เครื่องประดับที่ผลิตโดย Cartier ดังที่กล่าวมาตอนต้น ทั้งมุก พลอย แซฟไฟร์ เพชรซีก และอื่นๆปัจจุบันประเมินราคาแทบไม่ได้ ทั้งๆที่ก็ไม่ได้เป็นชิ้นเอกอะไรของ Cartier เลย แต่มันคือมูลค่าของเรื่องราวและความรักที่ซ่อนอยู่ภายใน เธอต้องยืนหยัดในสังคมเพื่อให้เจ้าชายและตัวเองอยู่รอดและเป็นที่ยอมรับ รวมถึงมีเรื่องราวที่ถูกหยิบยกเล่าว่า ขณะที่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดสิ้นลมและต้องนำพระศพมาจัดพระราชพิธีที่อังกฤษ เธอก็ยังฝืนยิ้มเด็ดเดี่ยวท่ามกลางประชาชนบางกลุ่มที่ยังต่อต้าน และราชวงศ์ที่ไม่ได้สนใจใยดีเธอแม้แต่น้อย และต้องอ้างว้างสิ้นหวังในการกลับสู่ฝรั่งเศสโดยปราศจากสามีอันเป็นที่รัก หนำซ้ำหลังจากกลับมาก็ร่างกายทรุดโทรม และโรยราไปตามกาลเวลา แถมยังโดน Suzanne Blum ทนายความประจำตระกูลดูแลทรัพย์สินและผลประโยชน์ยึดอำนาจ เอาของมีค่าและสมบัติไปขาย ในขณะที่เธอเองก็นอนป่วยหายใจโรยราอยู่บนเตียงและสิ้นลมในปี 1986


วอลลิซ ซิมป์สัน ในปี 1974 ก่อนที่เธอจะสิ้นลมในปี 1986

การแก่งแย่งชิงดี ชิงชัง โกงและให้ร้ายมีให้เห็นดาษดื่นตั้งแต่มนุษย์กลุ่มแรกๆเกิดมาบนโลก ความสุขที่แท้จริงของคนทุกคนมีเท่ากัน แต่ไม่เป็นที่พอใจของแต่ละคน บางคนมองว่ามันน้อยเกินไปก็อยากจะเป็นใครสักคนบนโลกที่ทุกคนให้การยอมรับ ในขณะที่บางคนยอมที่จะลดความสุข ความมั่งคั่ง อำนาจ ของตัวเองลงมาเพื่อหาความสุขที่แท้จริง ความรักมันชนะทุกสิ่งและได้เห็นจริงๆบนโลกนี้  ท้ายสุดศพของนาง Wallis Simpson ก็ยังได้นอนเคียงข้างหลุมศพของสามี ณ สุสานหลวง Royal Burial ของราชวงศ์อังกฤษ ไม่ถูกแยกจากกันแม้ยามไร้ลมหายใจ และถูกจารึกนามใหม่ให้เกียรติแก่เธอบนหลุมศพว่า Duchess of Windsor ผู้จากไปอย่างนิรันดร์

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพบางส่วนจาก sothebys.com/The Duchess of Windsor/wwd.com

You Might Also Like