พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองทรงประสูติเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1868 ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ทรงเป็นพระราชโอรสองค์โตแห่งพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สาม (Alexander III) และซาริน่ามาเรีย ฟิโอโดรอฟน่า (Maria Fyodorovna) ซึ่งเป็นเจ้าหญิงแห่งประเทศเดนมาร์ก ดังนั้นพระองค์จึงทรงอิสริยายศเป็น “ซาร์เรวิช แกรนด์ดยุค นิโคลัส” ซึ่ง “ซาร์เรวิช” คือตำแหน่งองค์รัชทายาทแห่งราชวงศ์โรมานอฟของอาณาจักรรัสเซีย
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองขณะทรงพระเยาว์
ในฐานะแห่งองค์รัชทายาท เจ้าชายนิโคลัสต้องทรงได้รับการถวายพระอักษรตั้งแต่พระชนมายุได้ 14 ชันษา แต่ด้วยความที่เป็นถึงองค์รัชทายาททำให้พระอาจารย์ไม่มีสิทธิ์ที่จะทูลซักถามลูกศิษย์ที่มีฐานะเป็นองค์รัชทายาทเลย ดังนั้นจึงไม่อาจรู้ได้ว่าเจ้าชายนิโคลัสทรงเฉลียวฉลาดมากน้อยเพียงใด แต่ในเรื่องพระอุปนิสัยนั้นมีผู้ลงความเห็นว่าพระองค์ทรงมีพระทัยคับแคบ ปฏิเสธที่จะรับฟังคำเตือน ไม่รู้สึกว่าพระองค์เป็นบุคคลที่ต้องรับผิดชอบสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ทรงไม่เชื่อมั่นในพระองค์เอง พระองค์ทรงหลีกเลี่ยงการตัดสินพระทัยเกี่ยวกับปัญหายุ่งยากทั้งมวลด้วยการยอมรับความคิดเห็นของทุกคน แต่ถึงกระนั้นพระอุปนิสัยส่วนพระองค์กลับประทับใจคนทั่วไปที่ได้เข้าเฝ้ามาก พระองค์มีความสุภาพ อ่อนโยน มีความเมตตากรุณา เป็นกันเองต่อผู้ใกล้ชิด ทรงมีเสน่ห์ และไม่เคยแสดงพระอาการและพระราชดำรัสที่กระทบกระเทือนความรู้สึกของใครเลย
เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นรัชทายาทแล้ว เจ้าชายนิโคลัสมักจะทรงบันทึกเหตุการณ์ประจำวันเพื่อฆ่าเวลาระหว่างวันเสมอ หรือเล่นเกมต่างๆ เสด็จออกไปล่าสัตว์ ซึ่งพระกิจวัตรของพระองค์ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่หาสาระอะไรไม่ได้เลย และเมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้นมา พระองค์ทรงตกเป็นข่าวว่ามีความสัมพันธ์กับดาราบัลเล่ห์ชาวโปล์อายุ 17 ปี ชื่อมาธิลเดอ คเชสซินสก้า โดยพระองค์พัวพันกับสตรีผู้นี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1890 และพระองค์ทรงจริงจังมากจนถึงขั้นจะอภิเษกด้วย
ขณะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในขณะดำรงตำแหน่งรัชทายาท
แต่พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สามพระราชบิดาทรงไม่เห็นชอบด้วย และแยกทั้งสองคนออกจากกันด้วยการมีพระราชบัญชาให้เจ้าชายนิโคลัสเสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1890 ดังนั้นเจ้าชายนิโคลัสและพระอนุชาได้เสด็จประพาสประเทศต่างๆ เป็นเวลาถึง 9 เดือน เจ้าชายนิโคลัสเสด็จไปพบกับพระประยูรญาติที่นครเอเธนส์ และเสด็จไปประเทศอียิปต์ อินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ ปัตตาเวีย และสยาม ซึ่งที่สยามนี้เองที่ทรงได้มีพระสัมพันธไมตรีกับรัชกาลที่ 5 จากนั้นเจ้าชายนิโคลัสที่สองก็ทรงเสด็จต่อไปยังไซง่อน ฮ่องกง และญี่ปุ่น และอีก 7 ปีต่อมารัชกาลที่ 5 ก็ทรงเสด็จไปรัสเซียเมื่อเจ้าชายนิโคลัสที่สองเป็นพระเจ้าซาร์แล้ว
ในช่วงที่พระองค์เสด็จไปที่ญี่ปุ่นโดยเดินทางไปเมืองโตเกียว จากนั้นก็เสด็จไปประพาสเมืองนางาซากิ เกียวโต และออตซู ซึ่งที่เมืองออตซูนี้เองที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อชายผู้หนึ่งกระโดดเข้าฟันพระองค์ด้วยดาบ ทำให้คมดาบเฉี่ยวพระนลาฏจนพระโลหิตพุ่งแต่ไม่เป็นแผลลึก และเจ้าชายจอร์จแห่งกรีซเป็นผู้เข้าช่วยเหลือพระองค์ ซึ่งเหตุผลการลอบสังหารครั้งนี้ไม่แน่ชัด บ้างก็ว่าเป็นเพราะพระองค์ไม่แสดงความเคารพต่อวัดในญี่ปุ่น ซึ่งผลจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พระองค์มีแผลเป็นที่พระนลาฏตลอดพระชนม์ชีพ และพระราชบิดามีพระราชบัญชาให้เสด็จกลับทันที พระองค์ทรงเสด็จกลับกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กด้วยความเกลียดชังญี่ปุ่นมาก แม้กระทั่งในบันทึกหรือการรับสั่งถึงชาวญี่ปุ่นพระองค์จะใช้คำว่า “เจ้าลิง” อยู่ตลอดเวลา
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สอง เคยเสด็จมาเยือนประเทศไทยเป็นเวลา 5 วัน เมื่อครั้งยังดำรงพระราชอิสริยายศเป็นมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียคือ “ซาร์เรวิช แกรนด์ ดุ๊ก นิโคลัส” ระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม ค.ศ.1891 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ในตอนนั้นรัชการที่ 5 ต้องการเจริญสัมพันธไมตรีกับรัสเซียเพื่อให้ถ่วงดุลอำนาจของอังกฤษที่กำลังรุกรานสยามประเทศอยู่ในขณะนั้น จึงได้ทรงทูลเชิญมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียเพื่อมาเยือนสยาม
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5
สยามมีการต้อนรับมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียอย่างอลังการ ณ พระบรมหาราชวัง มีพิธีพระราชทาน “สายสะพายจักรี” สีเหลืองสด ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ชั้นสูงสุดของไทยที่สงวนไว้ เฉพาะผู้มีกำเนิดเป็นเจ้านายชั้นสูง แด่แกรนด์ดุ๊ก ซาร์เรวิช เพื่อเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์แห่งพระราชวงศ์จักรีของกรุงสยาม 2 วันสุดท้ายซาร์เรวิช แกรนด์ดุ๊ก นิโคลัส และคณะผู้ติดตามได้เสด็จไปปิกนิกที่พระราชวังบางปะอิน มีการเสด็จพระราชดำเนินไปปิกนิกทางเรือซึ่งถือว่าเป็นขบวนปิกนิกที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีเรือเข้าร่วมขบวนเสด็จจำนวนนับร้อย คณะผู้ไปปิกนิกมีจำนวน 3,000-4,000 กว่าคน และจัดให้มีพระราชพิธีคล้องช้างเกิดขึ้นที่เพนียด โดยเป็นพระราชพิธีคล้องช้างที่สมบูรณ์แบบที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นการคล้องช้างเป็นครั้งสุดท้ายในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะการคล้องช้างป่าต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมากและยังถือเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ไม่ได้จัดขึ้นอย่างง่ายๆ พอตกกลางคืนได้จัดให้มีมูนไลต์ปาร์ตี้ขึ้น ณ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรในพระราชวังบางปะอิน บรรยากาศเป็นไปอย่างครึกครื้นรื่นรมย์ และมีการจุดโคมทั่วบริเวณอย่างสว่างไสว พร้อมกันนั้นได้จัดแสดงชุดต่างๆ เพื่อถวายความบันเทิงแด่พระราชอาคันตุกะสำคัญอย่างพร้อมสรรพ การเสด็จเยือนสยามขององค์รัชทายาทแห่งรัสเซียทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์จักรีและราชวงศ์โรมานอฟสนิทสนมแน่นแฟ้นมากขึ้น และทางพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเสด็จประพาสรัสเซียเมื่อ ค.ศ.1897 ด้วยเช่นกัน ซึ่งในเวลานั้นซาร์เรวิช แกรนด์ดุ๊ก นิโคลัส ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชย์เป็นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แล้ว และวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ.1897 ซึ่งเป็นวันที่กษัตริย์แห่งสยามได้เสด็จไปเยือนรัสเซีย ได้ถือเป็นวันแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียอย่างเป็นทางการอีกด้วย โดยมีพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เสด็จมาทรงรับถึงสถานีรถไฟและได้ทูลเชิญให้ประทับที่พระราชวังฤดูร้อน พระราชวังนอกเมืองที่คนรัสเซียเรียกกันว่า “ปีเตอร์ฮอฟ”
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเริ่มต้นเมื่อซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงแต่งตั้งอเล็กซานเดอร์ โคลารอฟสกี้ มาดำรงตำแหน่งอุปทูตรัสเซียประจำสยามเป็นคนแรกในปี ค.ศ.1898 และทางสยามก็ได้แต่งตั้งพระยาสุริยานุวัตรราชทูตไทย ณ กรุงปารีส มีอำนาจรับผิดชอบครอบคลุมถึงรัสเซีย และต่อมาได้แต่งตั้งพระยามหิบาลบริรักษ์ (สวัสดิ์ ภูมิรัตน์) เป็นอัครทูตคนแรก ณ กรุงเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อ ค.ศ.1899 ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ.1910 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชสมบัติแทน พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียก็ยังได้ทรงส่งเจ้านายแทนพระองศ์ คือแกรนด์ดุค บอริส วลาดิมิโฮวิตซ์ พระราชภาคินัยมาร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี ค.ศ.1911 อีกด้วย สายสัมพันธ์อันดีงามของสยามและรัสเซียยังดำรงและสืบเนื่องเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติรัสเซียและพระเจ้าซาร์นิโคลัสถูกสังหารโหด รัสเซียเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ความสัมพันธ์ไทยรัสเซียจึงยุติลง
ภาพของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงอลิกซ์ แห่งเยอรมันนี
เจ้าชายนิโคลัสที่สองทรงตกหลุมรักเจ้าหญิงเยอรมันคือเจ้าหญิงอลิกซ์ วิคตอเรีย เฮเลน่า หลุยส์ บีทริกซ์ แห่งเฮสส์-ดาร์มสตัดท์ พระธิดาแห่งแกรนด์ ดยุค หลุยส์ที่สี่แห่งเฮสส์ และเจ้าหญิงอลิซแห่งอังกฤษผู้เป็นพระราชธิดาแห่งสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียกษัตริย์แห่งอังกฤษ ทรงประสูติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1872 ซึ่งเจ้าหญิงอลิกซ์เคยเสด็จมายังกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กตั้งแต่มีพระชนมายุได้ 12 ชันษา แต่พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สามทรงมีพระราชประสงค์ให้พระโอรสอภิเษกกับเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ออร์ลีนส์ แต่เมื่อพระองค์ใกล้สิ้นพระชนม์จึงวิตกเรื่องการสืบราชวงศ์โรมานอฟมาก ดังนั้นจึงทรงอนุญาตให้เจ้าชายนิโคลัสที่สองอภิเษกกับเจ้าหญิงอลิกซ์ โดยพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สามโปรดให้เจ้าหญิงอลิกซ์เสด็จมารัสเซียก่อนที่พระองค์จะสวรรคตได้เพียง 10 วัน พอมาถึงพระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ที่สามก็สวรรคตแล้ว ทำให้เจ้าหญิงต้องประทับในรถม้าพระที่นั่งตามหลังของพระบรมวงศานุวงศ์ตามขบวนพระศพของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สาม ทำให้ชาวรัสเซียขนานนามพระองค์ว่า “พระองค์ทรงมาสู่พวกเราโดยตามหลังโลงศพ”
อีกเดือนต่อมาภายหลังการสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1894 พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองก็ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงอลิกซ์ในที่สุด ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองทรงขึ้นครองราชย์ ทั้งสองพระองค์มีความสุขมาก แต่ชาวรัสเซียไม่นิยมชมชอบในตัวเจ้าหญิงอลิกซ์เลย และมักจะกล่าวถึงพระองค์ว่า “เจ้าหญิงเยอรมันคนนั้น” เมื่อทรงอภิเษกแล้วเจ้าหญิงอลิกซ์ได้เปลี่ยนพระนามไปเป็นรัสเซียว่า “ซาริน่าอเล็กซานดรา ฟิโอโดรอฟนา”
ภาพของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองและเจ้าหญิงอลิกซ์ ในพระราชพิธีฉัตรมงคล
พระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ เจ้าหญิง ออลก้า ทาร์เธียน่า มาเรีย และ อนาตาเซีย
เจ้าชายอเล็กซิสและพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สอง
ในตอนแรกที่ซาริน่าอเล็กซานดราพระราชทานพระธิดาติดต่อกันถึง 4 พระองค์ให้พระสวามีทำให้พระองค์ทรงหวาดกลัวมากว่าจะไม่สามารถพระราชทานพระโอรสให้แก่พระสวามีได้ ในตอนนั้นมีแพทย์ชาวฝรั่งเศสมาทูลว่าทรงมีโลหิตเป็นพิษ ซึ่งจะทำให้ประสูติพระราชโอรสที่ไม่สมประกอบ พระนางใช้เวลาส่วนใหญ่สวดอ้อนวอนขอพระโอรสเสมอ โรคฮีโมฟีเลียนี้เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ซาริน่าอเล็กซานดราสืบมาจากทางสายของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียกษัตริย์แห่งอังกฤษ หลังการการรอคอยที่นานนับ 10 ปี ซาริน่าอเล็กซานดราก็ให้ประสูติพระราชโอรสในที่สุด ทั่วรัสเซียมีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ ครั้นเมื่อเจ้าชายอเล็กซี นิโคเลวิช ประสูติมาได้เพียง 6 สัปดาห์ เจ้าชายก็มีอาการของโรคฮีโมฟีเลียโดยมีพระโลหิตไหลไม่หยุด 3 วันติดต่อกัน เจ้าชายต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคนี้มาก พระองค์ทรงไม่สามารถใช้ชีวิตเฉกเช่นเด็กในวัยเดียวกันได้ และเกือบสิ้นพระชนม์หลายครั้ง พระเจ้าซาร์ทรงปิดอาการของเจ้าชายเป็นความลับ ซึ่งทำให้ทั้งสองพระองค์ไม่ค่อยเสด็จไปปรากฏตัวในที่สาธารณะ หลังจากที่ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสแล้วซาริน่าอเล็กซานดราก็ทรงเข้ารีตเป็นออโธดอกซ์อย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังเชื่อถือในบาทหลวงและผู้มีเวทมนตร์คาถาต่างๆ มาก ด้วยเหตุนี้ทำให้พระองค์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสปูติน ซึ่งเป็นนักบวชที่มาจากไซบีเรียที่เข้ามารักษาอาการเจ็บป่วยของเจ้าชายอเล็กซีได้ ทำให้พระนางเชื่อถือรัสปูตินมากจนทำให้เขามีอำนาจถึงขนาดสามารถถอดถอนรัฐมนตรีได้เลยทีเดียว ผู้ใดตั้งตัวเป็นศัตรูกับเขาก็จะถูกใส่ร้ายป้ายสี
ในทางกลับกันในฐานะ “พ่อ” ของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สอง ท่านทรงให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอย่างมาก พระราชธิดาทั้ง 4 ได้รับการเลี้ยงดูและให้เห็นความสำคัญของการใช้ชีวิต ท่านทรงสอน การรู้จักประชาชน สาธารณสุข ความเป็นอยู่ของเหล่าทหาร บ่อยครั้งถ้าใครศึกษาเรื่องประวัติและเห็นรูปในหลากหลายอิริยาบทจะเห็นว่า พระองค์จะพาพระราชธิดาเสด็จตามไปทุกๆที่ ที่เห็นสมควร พระองค์ปราถนาที่จะให้พระราชธิดาและพระราชโอรสมีกิจกรรมและใช้ชีวิตในแบบที่ราชวงศ์พึงกระทำต่อราษฎร แต่ในทางกลับกันซาริน่าอเล็กซานดราและปูติน กลับนำมาความหายนะและความบัดสีมาสู่ราชวงศ์
ชาวรัสเซียจงเกลียดจงชังรัสปูตินและซาริน่ามาก เพราะเห็นว่าทั้งสองทำให้ประเทศล่มจมพินาศ หลายคนต่างลงความเห็นว่าทั้งสองทำให้ราชวงศ์โรมานอฟถึงกาลสิ้นสุดลง มีข่าวซุบซิบไม่ดีถึงขนาดว่าซาริน่าและรัสปูตินมีความสัมพันธ์กัน ว่ากันว่ารัสปูตินนั้นข่มขืนพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ แม้กระทั่งอเล็กซานเดอร์ เคอเรนสกี้ นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเฉพาะกาลในปี ค.ศ. 1917 หลังการปฏิวัติรัสเซียยังกล่าวว่า “ถ้าไม่มีรัสปูตินเสียคน ก็คงจะไม่มีเลนินด้วยเช่นกัน”
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองทรงเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอมาก และทรงใจดีเกินไปที่จะปกครองอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลและประชาชนมากมายอย่างรัสเซียแต่ก็ต้องทรงครองราชย์สมบัติสืบต่อพระบิดา ซึ่งในตอนนั้นประชาชนชาวรัสเซียต่างเบื่อหน่ายระบบเจ้าขุนมูลนายที่เต็มไปด้วยอภิสิทธิ์ต่าง ๆ มากมาย ประเทศเต็มไปด้วยความตึงเครียด กรรมกรและชนชั้นแรงงานก็นัดหยุดงานและรวมตัวกันประท้วง พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองทรงดึงต่างชาติมาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ด้วยการเพิ่มการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่กลับไม่เป็นผลดีแต่อย่างใดเนื่องจากส่วนใหญ่ประชาชนชาวรัสเซียยังทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม แต่จุดหักเหครั้งยิ่งใหญ่ที่สำคัญคือพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองทรงทำสงครามกับญี่ปุ่น และสงครามครั้งนี้เองที่ทำให้เกิดความเสียหายให้กับประเทศครั้งยิ่งใหญ่เพราะทรงพ่ายแพ้สงครามในครั้งนี้ ประชาชนล้วนแต่ต้องอดยากและล้มตายเป็นจำนวนมาก ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1905 กรรมกรโรงงานในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนัดหยุดงานครั้งใหญ่ เหล่ากรรมกรและครอบครัวราว 2 แสนคนเดินทางไปยังพระราชวังฤดูหนาวเพื่อถวายฎีกาให้แก่พระเจ้าซาร์ แต่ผลปรากฏว่าคนเหล่านี้ถูกยิงตายและบาดเจ็บนับร้อย เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า “วันอาทิตย์นองเลือด”
สงครามนำความเสียหายมาสู่ประเทศ ประชาชนอดอยากล้มตาย และชาวนครหลวงต่างเกลียดชังซาริน่าและรัสปูตินจนเข้า สภาดูม่าและเหล่าราชวงศ์ต่างเห็นพ้องกันที่จะกำจัดรัสปูติน รัสปูตินรู้มาตลอดเวลาว่ามีผู้ที่คิดจะลอบฆ่าเขาอยู่ แต่ในที่สุดรัสปูตินถูกลอบสังหารเมื่อปี ค.ศ. 1916 โดยเจ้าชายยูซูนอฟของราชวงศ์โรมานอฟและพวก การตายของรัสปูตินยังความโศกเศร้าให้แก่ซาริน่ามาก
ในคืนวันจันทร์ที่ 12 มีนาคม ซาริน่าโทรเลขถึงพระเจ้าซาร์เล่าถึงเหตุการณ์ความปั่นป่วน ทำให้วันต่อมาพระเจ้าซาร์ตัดสินพระทัยเสด็จกลับพระราชวังซาร์สโกเซโล แต่พระองค์ไม่สามารถเข้ามาเมืองหลวงได้เพราะเหล่าคณะปฏิวัติยึดเส้นทางรถไฟสายที่พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินผ่าน ทำให้พระองค์ต้องเสด็จไปเมืองพสะคอฟ และที่เมืองนี้เองพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติตามคำแนะนำของทหารและพระญาติสนิท ดังนั้นในวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1917
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สอง มเหสี และพระโอรสและพระธิดาทั้ง 5 พระองค์
ในตอนแรกพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สอง มเหสี และพระโอรสและพระธิดาทั้ง 5 พระองค์ถูกคุมขังไว้ที่พระราชวังซาร์สโกเซโล รัฐบาลเฉพาะกาลห้ามมิให้ผู้ใดมาเข้าเฝ้าอย่างเด็ดขาด ทางอังกฤษคือพระเจ้าจอร์จที่ 5 ก็ทรงไม่กล้าที่จะให้ความช่วยเหลือแก่พระเจ้าซาร์และพระราชวงศ์ลี้ภัย เพราะทรงเกรงว่าประชาชนจะเสื่อมความนิยมในตัวพระองค์ ต่อมาพรรคบอลเชวิคประสบชัยชนะในการปฏิวัติ ทำให้ฐานะของพระราชวงศ์เปลี่ยนไป เพราะเลนินได้ทำสัญญาสงบศึกกับเยอรมนีและทางเยอรมนีต้องการให้ส่งพระเจ้าซาร์และราชวงศ์ไปยังเยอรมนี พวกโซเวียตต้องการให้ปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์ มเหสี และพระราชโอรสและธิดาทั้ง 5 พระองค์ เพราะเกรงว่ารัฐบาลจะส่งพระองค์ไปเยอรมนีเพื่อลงพระนามทำสัญญาสงบศึก และมีเหตุการณ์ที่เป็นตัวเร่งให้พระองค์ชะตาขาดเร็วขึ้นเมื่อมีกลุ่มนิยมกษัตริย์จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครขาวหรือกลุ่มรัสเซียขาว เพื่อฟื้นฟูให้พระเจ้าซาร์กลับมาปกครองประเทศดังเดิม ยูลอฟสกี้เป็นผู้ดำเนินแผนการลองปลงพระชนม์ในครั้งนี้ เขาไล่ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกไปตั้งแต่ตอน 4 โมงเย็น และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนยูลอฟสกี้ก็ไปปลุกทุกพระองค์และแจ้งแต่เพียงว่ามีคำสั่งให้ย้ายนักโทษเพราะกองกำลังรัสเซียขาวกำลังเคลื่อนตัวใกล้เข้ามา และให้ทุกพระองค์หลบไปยังห้องใต้ดิน และที่ห้องใต้ดินนี่เองยูลอฟสกี้ก็นำหน่วยสังหารพร้อมอาวุธครบมือพรวดพราดเข้ามาในห้อง ยูลอฟสกี้ยกปืนเล็งพระเศียรแล้วลั่นไก ซาร์นิโคลัสที่สองสิ้นพระชนม์ทันที จากนั้นหน่วยสังหารก็กราดยิงจนทุกพระองค์พร้อมด้วยผู้ติดตามเสียชีวิต
หน่วยเชก้าได้นำพระศพและศพทั้งหมดขนขึ้นรถไปจัดการเผาที่เหมืองร้าง สรุปว่าพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองและพระราชวงศ์ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 เป็นจุดจบอันน่าเศร้าของราชวงศ์โรมานอฟ ส่วนพระญาติคนอื่นๆ ต่างถูกลอบสังหารและแตกซ่านกระเซ็นหนีตายกันอลหม่านไปลี้ภัยตามประเทศต่างๆ เช่นพระราชมารดาของซาร์นิโคลัสที่สองและพระขนิษฐาทรงหลบหนีไปอังกฤษ และแผนการลอบปลงพระชนม์นี้เลนิน ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็น แต่ถึงกระนั้นทุกคนก็รู้กันดีว่าเลนินนั่นเองที่สั่งให้มีการดำเนินการนี้ นับเป็นจุดจบของระบบกษัตริย์ในรัสเซียที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมรัสเซียมาจนกระทั่งทุกวันนี้
ความอ่อนแอ และมีความเป็นพ่อมากกว่ากษัตริย์ทำให้โศกนาฏกรรมของราชวงศ์โรมานอฟของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองต้องสิ้นสุดลง เพราะบุคคลที่เข้ามาในชีวิต พระองค์มีจิตใจดีเพียงแต่ปราศจากความเด็ดเดี่ยวและไม่มองหาศัตรูที่อยู่รายล้อมว่า บุคคลเหล่านี้ คือผู้นำความหายนะและความขัดแย้งเข้ามายังราชวงศ์ แต่ในทางกลับกัน พระองค์เป็นผู้สร้างโลกของคำว่า “พ่อ” และ “ครอบครัวอันเป็นที่รัก” เหนือสิ่งอื่นใด พระองค์ปราถนาความสุขของการใช้ชีวิต ถึงแม้ความสุขนั้นจะนำมาซึ่งความสูญเสียก็ตาม